วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชวนเที่ยววัดสี่ร้อย แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ


                            หลวงพ่อโต ( หลวงพ่อร้องไห้ )




            บทความวันก่อนผู้เขียนได้แนะนำท่านผู้อ่านไปเที่ยววัดหน้าพระเมรุ เมืองกรุงเก่า
ซึ่งมีประวัติศาสตร์เป็นวัดเดียวที่รอดพ้นจากการเผาทำลายของข้าศึกมาได้  เมื่อสงคราม
คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ 




           เชื่อกันว่าอาศัยบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของพระประธานในพระอุโบสถ "พระพุทธนิมิตฯ " 
ช่วยบันดาลให้ปืนใหญ่ที่พระเจ้าอลองพญา แห่งกรุงหงสาวดี นำมาตั้งยิงหน้าวัด แตกระเบิด
ต้องพระองค์บาดเจ็บถึงสาหัส เมื่อวัน ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๖ ปี พ.ศ.๒๓๐๓ จึงต้องเลิกทัพกลับและ
สิ้นพระชนม์ลงระหว่างการเดินทางกลับหงสาวดี

          ครั้นถึงสงคราม ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พวกข้าศึกจึงคร้ามไม่กล้าเผาทำลายวัดหน้าพระเมรุ




            ซึ่งในสงคราม ปี พ.ศ. ๒๓๐๒-๒๓๐๓ นั้นเอง ประวัติศาสตร์ได้จารึกวีรกรรมของนักรบ
ชาวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ซึ่งเป็นกองอาสาอาทมาต จำนวน ๔๐๐ คน กล้าหาญอาสาต่อกร
กับข้าศึกพม่านับหมื่นคน  เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง




            รบกันที่หาดหว้าขาว พื้นที่บ้านทุ่งหมากเม่า ตำบลอ่าวน้อยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
( ในปัจจุบัน )  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ โดยรบแบบกองโจรต้านทัพพม่าไว้ได้เป็นเวลานาน  ในที่สุด
ขาดกำลังสนับสนุน  จึงถูกล้อมถูกต้อนลงทะเลอ่าวหว้าขาว  พลีชีพสิ้นหมดทั้ง ๔๐๐ คน




                เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน
มีความวุ่นวายในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์  ต้องการหยั่งเชิงหลังจากเกรงกลัวพระราชอำนาจของ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  มานานแสนนาน




                อาศัยเหตุว่ามีชาวมอญ อพยพหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  พม่าอ้างว่าเป็นกบฏ
หนีมา   จึงหาเหตุส่งมังระ ราชบุตรองค์ที่ ๒ กับมังฆ้องนรธา คุมทัพแปดพัน ตีหัวเมืองทางใต้
มีทะวาย  มะริดและตะนาวศรี  และเดินทัพเข้าทางด่านสิงขร 




             ในเพลานั้นมีครูดาบขมังเวทย์ชาวอ่างทองชื่อครูดาบชู  เป็นรองปลัดกรมเมือง
วิเศษไชยชาญ  ชาวบ้านเรียกว่าขุน ( รองปลัด ) ชู เมื่อทราบข่าวศึกจึงรวบรวมชายฉกรรจ์
ชาวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญได้จำนวน ๔๐๐ คน  เดินทางเข้ามาอาสารับศึกพม่า




                 พระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดให้พระยา ยมราช เป็นแม่ทัพคุมกำลัง สามพันและ
พระยารัตนาธิเบศร์ คุมทัพหนุน สองพันไปสกัด โดยมีกองอาสาอาทมาตเป็นหน่วยรบพิเศษ
มีขุน (รองปลัด ) ชู  กรมเมืองวิเศษไชยชาญเป็นหัวหน้า  ไปตั้งรับทัพพม่าที่เมืองกุย




              พระยารัตนาธิเบศร์ มีคำสั่งให้กองอาสาอาทมาต นำกำลังไปตั้งสกัดทัพพม่าที่อ่าว
หว้าขาว บ้านทุ่งหมากเม่า ตำบลอ่าวน้อย เหนือศาลาว่าการจังหวัดประจวบค่รีขันธ์ในปัจจุบัน

             ทำการรบแบบกองโจรฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากมีวิชาอาคม
คงกระพันฟันแทงไม่เข้า  ต้านทานยั้งทัพทัพพม่าได้เป็นเวลานาน  จนกระทั่งพม่าต้องใช้
ทัพหนุนซึ่งมีจำนวนมากกว่าเป็นอันมาก  ใช้ทัพช้างเข้าไล่ต้อนนักรบชาวเมืองวิเศษไชยชาญ
ลงทะเลอ่าวหว้าขาว พลีชีพทั้งหมด ๔๐๐ คน  สังเวยชีวิตเพื่อชาติไม่มีผู้ใดรอดมาได้แม้แต่
คนเดียว  เนื่องด้วยข้าศึกมีจำนวนนับหมื่น




                 เป็น ๔๐๐ นักรบที่ถูกลืมกับวีรกรรมหาญกล้าที่อ่าวหว้าขาว   
หลังจากพม่าผ่านอ่าวหว้าขาวไปได้ก็ไม่มีหัวเมืองใดขัดขวางทัพพม่า พากันยอมแพ้ทั้งหมด
ทั้งกุยบุรี เพชรบุรี ราชบุรี  เข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย

                 เป็นสงครามต่อเนื่องกันมาจนเกิดเหตุปืนใหญ่แตก ระเบิดต้องพระเจ้าอลองพญา
ที่วัดหน้าพระเมรุ  ได้รับบาดเจ็บถึงสาหัสและสิ้นพระชนม์ลงระหว่างเลิกทัพกลับหงสาวดี
ดังที่ผู้เขียนได้เล่ามาแล้วข้างต้น




               ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พม่ายกทัพมาใหม่จนเกิดวีรกรรมอันลือลั่นของชาวบ้าน
บางระจัน เหนือแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ  โดยมีชาวเมืองวิเศษไชยชาญอาสาไปร่วมรบด้วย
เช่นเดิม

                 ปี พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าทุ่มกำลังทัพจำนวนมากเข้าล้อมตีค่ายบางระจันจนแตก 
ชาวบ้านบางระจันพลีชีพทั้งหมดในการรบอีกเหมือนเดิม   หลังจากนั้นทัพพม่าได้ยกเข้าตี
กรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่ายแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืน
มาได้ภายเวลาไม่กี่เดือน




                          ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๑๓ หลังจากที่ชาวเมืองวิเศษไชยชาญที่ได้สูญเสีย
ญาติมิตร พี่น้องลูกหลานและสามีอันเป็นที่รักในกองอาสาอาทมาตในสงครามอ่าวหว้าขาว
ไม่ได้กลับมาแม้แต่คนเดียว  เกิดความโศกเศร้าเฝ้ารอไม่เป็นอันกินอันนอนไม่มีกำลังใจ
ที่จะทำมาหากิน  

                       จึงได้ร่วมกันสร้างวัดสี่ร้อย ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำน้อยด้านทิศตะวันตก  ทางตอนใต้
ของตัวเมืองวิเศษไชยชาญ   เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ดวงวิญญาณเหล่านักรบผู้กล้าในกองอาสา
ทั้งสี่ร้อยคน  ณ ตำบลบางจัก  อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง




                  ภายในวัดมีพระพุทธรูปปางป่าเลไลก์ สูงถึง ๒๑ เมตร หน้าตักกว้า ๖ เมตรเศษ
ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อร้องไห้ เป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อ ปี
พ.ศ. ๒๕๓๐ มีน้ำสีคล้ายสีเลือดไหลเหมือนหลวงพ่อร้องไห้ ประกอบกับชาวบ้านให้ความ
นับถือในความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเวลาช้านาน เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง มีงานไหว้พระหลวงพ่อโต
ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ( ลอยกระทง ) ของทุกปี




                   บริเวณลานหน้าวัดสี่ร้อยมีอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู เป็นนอนุสรณ์แด่วีรกรรมของ
นักรบผู้กล้า กองอาสาอาทมาตทั้ง ๔๐๐ ดวงวิญาณ  เป็นบรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อและ
ชีวิต  เพื่อรักษาผืนแผ่นดินเกิดอันเป็นที่รักยิ่งไว้ให้ลูกหลาน ได้อยู่ดีมีสุขกันสืบมา

                   หากไม่มีวีรกรรมของเหล่าบรรพบุรุษผู้กล้า ๔๐๐ ท่าน ก็คงจะไม่มีวีรกรรมของ
ชาวบ้านบางระจัน เพราะจะสิ้นชาติไปเสียก่อนแล้ว

              การเดินทางจากพระนครศรีอยุธยา เลาะริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปอำเภอป่าโมกเลี้ยว
ซ้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงไปข้ามแม่น้ำน้อย เลี้ยวขวาเลาะริมแม่น้ำน้อยฟากตะวันตก
ขึ้นเหนือไปไม่ไกล   การเดินทางถือว่าสะดวกสบายมาก

             กราบหลวงพ่อโต  อุทิศส่่วนกุศลให้บรรพบุรุษ   อดนึกวาดภาพไม่ได้ว่าถ้าวันนี้เรา
ไม่มีชาติไทย  เราก็คงไม่ตาย  เราก็คงต้องถูกอังกฤษปกครองเป็นร้อยปี แล้วพวกเราอาจต้อง
ล่องเรือแบบชาวโรฮิลญา   ผู้เขียนก็นึกเส้นทางลอยเรืออพยพไปอยู่ประเทศที่สาม....... 
                      
             พี่น้องกรุณาช่วยคิดหน่อย..ลอยไปไหนดี..ไปเกาะกงกันมั๊ยครับ...สวัสดี...



                              ...............&&&&&&&&&&&&&&&...............



credit :  www.pixpros.net
             www.gotoknow.org