วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชวนเที่ยววัดสี่ร้อย แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ


                            หลวงพ่อโต ( หลวงพ่อร้องไห้ )




            บทความวันก่อนผู้เขียนได้แนะนำท่านผู้อ่านไปเที่ยววัดหน้าพระเมรุ เมืองกรุงเก่า
ซึ่งมีประวัติศาสตร์เป็นวัดเดียวที่รอดพ้นจากการเผาทำลายของข้าศึกมาได้  เมื่อสงคราม
คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ 




           เชื่อกันว่าอาศัยบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของพระประธานในพระอุโบสถ "พระพุทธนิมิตฯ " 
ช่วยบันดาลให้ปืนใหญ่ที่พระเจ้าอลองพญา แห่งกรุงหงสาวดี นำมาตั้งยิงหน้าวัด แตกระเบิด
ต้องพระองค์บาดเจ็บถึงสาหัส เมื่อวัน ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๖ ปี พ.ศ.๒๓๐๓ จึงต้องเลิกทัพกลับและ
สิ้นพระชนม์ลงระหว่างการเดินทางกลับหงสาวดี

          ครั้นถึงสงคราม ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พวกข้าศึกจึงคร้ามไม่กล้าเผาทำลายวัดหน้าพระเมรุ




            ซึ่งในสงคราม ปี พ.ศ. ๒๓๐๒-๒๓๐๓ นั้นเอง ประวัติศาสตร์ได้จารึกวีรกรรมของนักรบ
ชาวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ซึ่งเป็นกองอาสาอาทมาต จำนวน ๔๐๐ คน กล้าหาญอาสาต่อกร
กับข้าศึกพม่านับหมื่นคน  เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง




            รบกันที่หาดหว้าขาว พื้นที่บ้านทุ่งหมากเม่า ตำบลอ่าวน้อยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
( ในปัจจุบัน )  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ โดยรบแบบกองโจรต้านทัพพม่าไว้ได้เป็นเวลานาน  ในที่สุด
ขาดกำลังสนับสนุน  จึงถูกล้อมถูกต้อนลงทะเลอ่าวหว้าขาว  พลีชีพสิ้นหมดทั้ง ๔๐๐ คน




                เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน
มีความวุ่นวายในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์  ต้องการหยั่งเชิงหลังจากเกรงกลัวพระราชอำนาจของ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  มานานแสนนาน




                อาศัยเหตุว่ามีชาวมอญ อพยพหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  พม่าอ้างว่าเป็นกบฏ
หนีมา   จึงหาเหตุส่งมังระ ราชบุตรองค์ที่ ๒ กับมังฆ้องนรธา คุมทัพแปดพัน ตีหัวเมืองทางใต้
มีทะวาย  มะริดและตะนาวศรี  และเดินทัพเข้าทางด่านสิงขร 




             ในเพลานั้นมีครูดาบขมังเวทย์ชาวอ่างทองชื่อครูดาบชู  เป็นรองปลัดกรมเมือง
วิเศษไชยชาญ  ชาวบ้านเรียกว่าขุน ( รองปลัด ) ชู เมื่อทราบข่าวศึกจึงรวบรวมชายฉกรรจ์
ชาวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญได้จำนวน ๔๐๐ คน  เดินทางเข้ามาอาสารับศึกพม่า




                 พระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดให้พระยา ยมราช เป็นแม่ทัพคุมกำลัง สามพันและ
พระยารัตนาธิเบศร์ คุมทัพหนุน สองพันไปสกัด โดยมีกองอาสาอาทมาตเป็นหน่วยรบพิเศษ
มีขุน (รองปลัด ) ชู  กรมเมืองวิเศษไชยชาญเป็นหัวหน้า  ไปตั้งรับทัพพม่าที่เมืองกุย




              พระยารัตนาธิเบศร์ มีคำสั่งให้กองอาสาอาทมาต นำกำลังไปตั้งสกัดทัพพม่าที่อ่าว
หว้าขาว บ้านทุ่งหมากเม่า ตำบลอ่าวน้อย เหนือศาลาว่าการจังหวัดประจวบค่รีขันธ์ในปัจจุบัน

             ทำการรบแบบกองโจรฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากมีวิชาอาคม
คงกระพันฟันแทงไม่เข้า  ต้านทานยั้งทัพทัพพม่าได้เป็นเวลานาน  จนกระทั่งพม่าต้องใช้
ทัพหนุนซึ่งมีจำนวนมากกว่าเป็นอันมาก  ใช้ทัพช้างเข้าไล่ต้อนนักรบชาวเมืองวิเศษไชยชาญ
ลงทะเลอ่าวหว้าขาว พลีชีพทั้งหมด ๔๐๐ คน  สังเวยชีวิตเพื่อชาติไม่มีผู้ใดรอดมาได้แม้แต่
คนเดียว  เนื่องด้วยข้าศึกมีจำนวนนับหมื่น




                 เป็น ๔๐๐ นักรบที่ถูกลืมกับวีรกรรมหาญกล้าที่อ่าวหว้าขาว   
หลังจากพม่าผ่านอ่าวหว้าขาวไปได้ก็ไม่มีหัวเมืองใดขัดขวางทัพพม่า พากันยอมแพ้ทั้งหมด
ทั้งกุยบุรี เพชรบุรี ราชบุรี  เข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย

                 เป็นสงครามต่อเนื่องกันมาจนเกิดเหตุปืนใหญ่แตก ระเบิดต้องพระเจ้าอลองพญา
ที่วัดหน้าพระเมรุ  ได้รับบาดเจ็บถึงสาหัสและสิ้นพระชนม์ลงระหว่างเลิกทัพกลับหงสาวดี
ดังที่ผู้เขียนได้เล่ามาแล้วข้างต้น




               ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พม่ายกทัพมาใหม่จนเกิดวีรกรรมอันลือลั่นของชาวบ้าน
บางระจัน เหนือแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ  โดยมีชาวเมืองวิเศษไชยชาญอาสาไปร่วมรบด้วย
เช่นเดิม

                 ปี พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าทุ่มกำลังทัพจำนวนมากเข้าล้อมตีค่ายบางระจันจนแตก 
ชาวบ้านบางระจันพลีชีพทั้งหมดในการรบอีกเหมือนเดิม   หลังจากนั้นทัพพม่าได้ยกเข้าตี
กรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่ายแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืน
มาได้ภายเวลาไม่กี่เดือน




                          ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๑๓ หลังจากที่ชาวเมืองวิเศษไชยชาญที่ได้สูญเสีย
ญาติมิตร พี่น้องลูกหลานและสามีอันเป็นที่รักในกองอาสาอาทมาตในสงครามอ่าวหว้าขาว
ไม่ได้กลับมาแม้แต่คนเดียว  เกิดความโศกเศร้าเฝ้ารอไม่เป็นอันกินอันนอนไม่มีกำลังใจ
ที่จะทำมาหากิน  

                       จึงได้ร่วมกันสร้างวัดสี่ร้อย ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำน้อยด้านทิศตะวันตก  ทางตอนใต้
ของตัวเมืองวิเศษไชยชาญ   เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ดวงวิญญาณเหล่านักรบผู้กล้าในกองอาสา
ทั้งสี่ร้อยคน  ณ ตำบลบางจัก  อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง




                  ภายในวัดมีพระพุทธรูปปางป่าเลไลก์ สูงถึง ๒๑ เมตร หน้าตักกว้า ๖ เมตรเศษ
ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อร้องไห้ เป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อ ปี
พ.ศ. ๒๕๓๐ มีน้ำสีคล้ายสีเลือดไหลเหมือนหลวงพ่อร้องไห้ ประกอบกับชาวบ้านให้ความ
นับถือในความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเวลาช้านาน เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง มีงานไหว้พระหลวงพ่อโต
ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ( ลอยกระทง ) ของทุกปี




                   บริเวณลานหน้าวัดสี่ร้อยมีอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู เป็นนอนุสรณ์แด่วีรกรรมของ
นักรบผู้กล้า กองอาสาอาทมาตทั้ง ๔๐๐ ดวงวิญาณ  เป็นบรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อและ
ชีวิต  เพื่อรักษาผืนแผ่นดินเกิดอันเป็นที่รักยิ่งไว้ให้ลูกหลาน ได้อยู่ดีมีสุขกันสืบมา

                   หากไม่มีวีรกรรมของเหล่าบรรพบุรุษผู้กล้า ๔๐๐ ท่าน ก็คงจะไม่มีวีรกรรมของ
ชาวบ้านบางระจัน เพราะจะสิ้นชาติไปเสียก่อนแล้ว

              การเดินทางจากพระนครศรีอยุธยา เลาะริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปอำเภอป่าโมกเลี้ยว
ซ้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงไปข้ามแม่น้ำน้อย เลี้ยวขวาเลาะริมแม่น้ำน้อยฟากตะวันตก
ขึ้นเหนือไปไม่ไกล   การเดินทางถือว่าสะดวกสบายมาก

             กราบหลวงพ่อโต  อุทิศส่่วนกุศลให้บรรพบุรุษ   อดนึกวาดภาพไม่ได้ว่าถ้าวันนี้เรา
ไม่มีชาติไทย  เราก็คงไม่ตาย  เราก็คงต้องถูกอังกฤษปกครองเป็นร้อยปี แล้วพวกเราอาจต้อง
ล่องเรือแบบชาวโรฮิลญา   ผู้เขียนก็นึกเส้นทางลอยเรืออพยพไปอยู่ประเทศที่สาม....... 
                      
             พี่น้องกรุณาช่วยคิดหน่อย..ลอยไปไหนดี..ไปเกาะกงกันมั๊ยครับ...สวัสดี...



                              ...............&&&&&&&&&&&&&&&...............



credit :  www.pixpros.net
             www.gotoknow.org






วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผัดเผ็ดปลาดุก ( แบบทอด )




                 ในบทความคราวก่อน ผู้เขียนได้แนะนำการทำผัดเผ็ดปลาดุก ( แบบสด )ไปแล้ว
คราวนี้ก็จะมาแนะนำการทำผัดเผ็ดปลาดุก ( แบบทอด ) ซึ่งก็ได้เคยเกริ่นไว้บ้างแล้วว่ามีอยู 2 แบบ
คือแบบทอดกรอบและทอดไม่กรอบ ( แต่ก็ไม่มีกฏเกณฑ์บังคับว่าต้องทอดกรอบหรือไม่กรอบ/แล้ว
แต่ความชอบ )


               ทั้งนี้ที่มาของการทอดก็มีอยู่หลายประการเช่นทอดเพื่อดับคาว/ทอดเพื่อให้ชิ้นปลา
สวยงามไม่แตกลุ่ยขณะนำไปผัด/ทอดเพื่อจะเก็บไว้ได้หลายวันนำมาทำอาหารได้หลายอย่าง
เพราะแต่ก่อนไม่มีตู้เย็น เวลาอุ่นก็นำมาทอดใหม่เร็วๆแค่ผ่านน้ำมัน


                1.ผัดเผ็ดปลาดุกแบบทอดไม่กรอบ  ส่วนมากเพื่อนำไปผัดกับสมุนไพรสดและไม่นิยม
ใส่น้ำตาลเพราะจะทำให้เกิดกลิ่นคาว เช่นผัดขี้เมา  ผัดเผ็ดกับหัวกะทิขลุกขลิก ( แบบผัดเผ็ด
หมูป่า )การทอดก็จะทอดพอสุกไม่นิยมให้กรอบเหลืองเพื่อคงรสชาติของปลาดุกไว้


                  2.ผัดเผ็ดปลาดุกทอดกรอบ ( ใบกระเพากรอบ )  อันนี้เป็นหัวใจของบทความนี้
เพราะการผัดแบบทอดไม่กรอบก็เหมือนกับผัดแบบสดนั้นเอง  คราวนี้มาพูดถึงเรื่องผัดเผ็ดปลาดุก
แบบทอดกรอบนี้จะมีรายละเอียดมากขึ้นหน่อย  เนื่องเพราะรสชาติในการปรุงจะแตกต่างไปจาก
2 แบบที่กล่าวมาแล้วคือจะปรุงรสหวานจากน้ำตาลปี๊บ ( น้ำตาลมะพร้าว ) ดังนั้นถ้าทอดไม่กรอบจริง
เมื่อใส่น้ำตาลลงไปจะมีกลิ่นคาว


                  2.1. การทอด  เพื่อให้ทอดง่ายและรวดเร็ว กรอบนอกนุ่มใน ไม่ใช่กรอบเป็นข้าวเกรียบ
จึงแนะนำให้ล้างปลาให้สะเด็ดน้ำหมาดๆเสียก่อน โรยเคล้าด้วยแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งหมี่นิดหน่อย
ไม่ต้องมาก เคาะเขย่าเศษแป้งให้หลุดนำลงทอดไฟปานกลาง นานจนเหลืองกรอบ ( หมดฟอง/ใช้
เวลาค่อนข้างนาน )  ข้อนี้เน้นให้กรอบเหลืองจริงๆ ไม่เช่นนั้นเวลาผัดจะคาว/ชิ้นปลาจะแตกเละ



                2.2. การผัดน้ำพริก เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยของเครื่องน้ำพริกออกมาผสมผสานกัน
เกิดกลิ่นหอมและที่สำคัญเพื่อให้ส่วนผสมของน้ำพริกอ่อนนุ่ม/ยุ่ย ( ภาษาในครัวเรียกว่า : น่าย )
ถ้าผัดน้ำพริกไม่ดีพอ พอเคี้ยวไปจะสะดุด ว่าอันนี้ข่า อันนี้ตะไคร้ อันนี้หอม ซึ่งจะทำให้ปร่าลิ้น
รสไม่นุ่มนวล   ใช้ไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน  


                  2.3. การปรุงรส  ก็มีเพียงรสเค็มกับหวานเท่านั้นซึ่งค่อนข้างหวานเพราะจะทำให้
เก็บไว้ได้นานหลายวันคล้ายกับหมูผัดพริกขิง  พอผัดน้ำพริกได้ที่  ปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลาแล้ว
ผัดต่อให้น้ำปลาแห้ง ถ้าไม่แห้งจะไม่กรอบ  น้ำตาลปี๊บใส่หลังสุดถ้าใส่เร็วไปน้ำพริกจะดำมาก
เสร็จแล้วปิดไฟ  ปล่อยให้เย็นลงก่อนแล้วค่อยนำปลาลงไปเคล้า  หากนำลงไปผัดตอนร้อนๆ
ปลาดุกจะกลับเหนียว ไม่กรอบ เพราะโดนความร้อน
                   
                       สรุปทีเด็ดเคล็ดลับคือ

              1. เวลาตำน้ำพริกเครื่องแกงต้องให้หยาบ/ซื้อแบบหยาบเพื่อจะได้ผัดน้ำพริกง่ายๆ
              2. ตอนปรุงรสหวานใส่น้ำตาลปี๊บตอนท้ายระวังน้ำพริกจะเป็นสีดำ( น้ำตาลไหม้ง่าย )
              3.เวลานำชิ้นปลาดุกที่ทอดกรอบแล้วลงเคล้าน้ำพริกต้องรอให้น้ำพริกเย็นเสียก่อน

                       เป็นอันเสร็จพิธี/ ด้วยความปรารถนาดี...จากใจนะครับพี่น้อง......

     

                                 ..................&&&&&&&&&&&&&&.................


credit : www.xn-m3c2aazhl9ab1d.net
             www.dekguide.com
             www.myhuki,com
             www.bloggang.com : เจ๊ดา
             www.aroiclub.com



วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชวนเที่ยวอยุธยากรุงเก่า ( เกาะเมือง )



                                                    วัดหน้าพระเมรุ




                 ถ้าพูดถึงแหล่งศิลปะวัฒนธรรมแล้วชาวต่างชาติจะรู้จักเมืองเชียงใหม่ สุโขทัย 
แต่ผู้เขียนคิดว่าอยุธยากรุงเก่าก็มีแหล่งศิลปะวัฒนะธรรมมากมายไม่แพ้กัน  ถึงแม้ว่าอาจจะ
ไม่ได้มีความหลากหลาย




                     เพราะเขตเมืองเก่าถูกจำกัดไว้ในบริเวณเกาะเมืองซึ่งมีบริเวณประมาณ
ห้าพันกว่าไร่ แต่รับรองได้ว่า ถ้าจะเที่ยวกรุงเก่าให้ทั่ว ( รวมทั้งปริมณฑลด้วยนะ ) ก็คงจะต้อง
ใช้เวลากันเป็นแรมเดือน




                 ผู้เขียนเคยไปเที่ยวอยุธยากรุงเก่านับครั้งไม่ถ้วน หลายรูปแบบด้วยนะครับ 
ทั้งไปทางเรือจากท่าน้ำเมืองนนท์  ล่องเรือจากแม่น้ำป่าสักอ้อมเกาะเมืองตอนค่ำและโดย
ทางรถยนต์  ปรากฏว่ายังเที่ยวไม่ทั่วและคงไม่มีทางเที่ยวอยุธยาได้ครบทุกที่เป็นแน่แท้




                      วันนี้ผู้เขียนขอเริ่มต้นแนะนำท่านผู้อ่านไปเที่ยววัดหน้าพระเมรุ ซึ่งตั้งอยู่
ริมคลองสระบัว ด้านเหนือของคูเมืองตรงข้ามพระราชวังโบราณ  สร้างขึ้นโดยพระองค์อินทร์
ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๖ 



             วัดหน้าพระเมรุเดิมชื่อว่าวัดพระเมรุราชิการาม เป็นที่สร้างพระเมรุเพื่อถวายพระเพลิง
พระศพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นและเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่รอดจากการเผาทำลาย
ของข้าศึกในสงครามคราวเสียกรุงในปี พ.ศ.๒๓๑๐   จึงยังคงสภาพความสมบูรณ์ไว้มากที่สุด




              ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสัมริด ปางมารวิชัยทรงเครื่องใหญ่
ตอนโปรดพญามหาชมพู ศิลปะอยุธยา งดงามที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน (ยุคเดียวกับ
พระพุทธรูปในวัดไชยวัฒนาราม )




              ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการบูรณะปฎิสังขรณ์ วัดหน้าพระเมรุ
และได้อัญเชิญพระพุทธรูปสมัยทวารวดี อายุกว่า ๑๕๐๐ ปี เรียกกันว่าพระคันธาราฐ




                      เป็นพระพุทธรูปศิลาสีเขียว ปางประทับนั่งห้อยพระบาทจากวัดมหาธาตุมา
ประดิษฐานไว้ ณ วิหารศรีสรรเพชญ์ หลังพระอุโบสถ ชาวอยุธยาเรียกว่าหลวงพ่อพระคันธาราฐ



         ปัจจุบันในประเทศไทยปรากฏพบพระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดีแบบนี้เพียง ๕ องค์เท่านั้น





                 วัดหน้าพระเมรุยังปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เช่นหน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
ยุดนาค(เหยียบนาค)




             วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  ตามเอกสารพงศาวดาร
กรุงศรีอยุธยา ฉบับพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่าเมื่อวัน ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๖ ปี พ.ศ.๒๓๐๓ 
พระเจ้าอลองพญาแห่งกรุงหงสาวดีตั้งค่าย ณ วัดหน้าพระเมรุ  ระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปใน
พระราชวังหลวงถูกยอดพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์หักพังลงมา  ในวันนั้นพระเจ้าอลองพญา ทรงบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง ทรงจุดชนวนปืนใหญ่ ด้วยพระบารมีของพระพุทธนิมิตฯ
ในพระอุโบสถ ปืนใหญ่แตก ระเบิดต้องพระองค์ได้รับบาดเจ็บถึงสาหัส




             พอวันรุ่ง  ขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๖ ปี พ.ศ. ๒๓๐๓ พระเจ้าอลองพญาจึงได้เลิกทัพ
กลับหงสาวดี ขึ้นเหนือไปทางด่านแม่ละเมา พระองค์ทนพิษบาดแผลไม่ไหวสิ้นพระชนม์ลง
ระหว่างการเดินทาง

              ด้วยเหตุฉะนี้เมื่อถึงคราวสงคราม ปี พ.ศ. ๒๓๑๐  ข้าศึกยำเกรงต่อความศักดิ์สิทธิ์ของ
พระพุทธนิมิตฯ จึงไม่กล้าที่จะเผาทำลายวัดหน้าพระเมรุ 





                การเดินทางนั้นก็สะดวกทั้งทางรถยนต์และทางเรือ แต่ปัจจุบันก็จะนิยมเดินทาง
กันด้วยรถยนต์ เข้าได้หลายทาง   ผู้เขียนขอแนะนำร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำไก่ฉีกหน้าวัดพนมยงค์
ตรงข้ามทางเข้าวัดหน้าพระเมรุ   จากทางด้านทางไปอนุเสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช





             ก่่อนกลับก็มีสถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายนับไม่ถ้วนที่ควรไปเยี่ยมชม
ทั้งนี้ก็แล้วแต่เวลาและโอกาสรวมทั้งการจัดโปรแกรมในแต่ละครั้งที่ได้เดินทางไปอยุธยา

             ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้นไม่ต้องเป็นห่วง มีให้เลือกซื้อหามากมาย เตรียมท้องให้พอ
ก็แล้วกันนะครับพี่น้อง  ส่วนของฝากส่วนมากจะขายอยู่ที่หน้าวิหารหลวงพ่อมงคลบพิตรหรือ
บริเวณวัดพนัญเชิง ฯลฯ ของฝากเด่นๆก็จะเป็นพวกผลไม้แปรรูป  น้ำตาลสด ผลตาลอ่อน และที่
ขึ้นชื่อที่สุดก็คือโรตีสายไหม





                สรุปรวมก็ทั้งอิ่มเอมใจ อิ่มบุญ อิ่มท้อง สะดวกสบายประทับใจกับกรุงเก่าที่เคยเจริญ
รุ่งเรืองยิ่งใหญ๋มายาวนานกว่า ๔๐๐ ปี ผู้เขียนยังแอบคิด " นี่ถ้ากรุงศรีอยุธยายังคงสถาวรอยู่
จนถึงปัจจุบันนี้ จะงดงามยิ่งใหญ่อลังการณ์ขนาดไหนกันนี่".......




                                   ...................฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿.......................



credit : www.gotoknow.org
             www.bloggang.com
             www.oknation.net
             www.unseenthailand.site90.com
             www.thailandhighlight.com
             Youtube / aekanan 6










วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ชวนเที่ยวตลาดบ้านใหม่ แปดริ้ว






               พูดถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมก็ต้องนึกถึงตลาดน้ำเป็นอันดับแรก
เนื่่องเพราะวิถีชีวิตดั้งเดิมของไทยอาศัยลำน้ำเป็นที่พึ่งพาอาศัยมาเนิ่นนาน  ดังนั้นภาพวิถีชีวิต
ทั้งหลายประดามีก็จะมาประมวลไว้ที่วิถีชีวิตในตลาดน้ำ




             พูดถึงเรื่องตลาดน้ำในประเทศไทยทั้งใหญ่น้อยหลากหลาย   ผู้เขียนนั้นก็ชอบไปเที่ยว
เป็นอย่างโปรด   จึงมีไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังไม่ได้ไปเที่ยวเช่นตลาดน้ำท่าคา คลองลัดมะยม บางไทร
หัวหิน...นอกนั้นเรียบร้อย..บางตลาดเคยไปเที่ยวหลายครั้งมาก...




                 วันนี้จะขอชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวตลาดเก่าริมน้ำ  อายุกว่าร้อยปีตั้งแต่สมัย
รัชกาลที่ 3  นั่นก็คือตลาดบ้านใหม่ ตั้งอยู่ริมน้ำบางปะกง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาแต่โบราณ 
รวมผลผลิตส่งสู่กรุงเทพฯทางคลองแสนแสบ ( ส่วนทางด้านตะวันตกส่งมาทางคลอง
ดำเนินสะดวก )




               แต่ก่อนจะไปเที่ยวตลาดบ้านใหม่  ขอพาไปไหว้หลวงพ่อโสธร ให้อิ่มเอมใจกันก่อน
ตั้งอยู่่ริมน้ำบางปะกง เดิมชื่อวัดหงส์ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา




                    เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อสัมริด ฝีมือช่างล้านช้าง หน้าตักกว้างศอกเศษ
สวยงามมาก  ลอยทวนน้ำมา ( ข้างในกลวงจึงลอยน้ำได้ )




           จึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานเมื่อปี พ.ศ. 2313 สมัยกรุงธนบุรี  ต่อมาทางวัดเกรงว่า
จะถูกโจรกรรมจึงได้พอกปูนเสริมไว้จนมีลักษณะดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน




          เสร็จแล้วถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์จะมีเรือบริการนำชมทิวทัศน์สองฝั่งชายน้ำบางปะกง
ไปขึ้นที่ท่าน้ำตลาดบ้านใหม่ทางทิศเหนือของวัดหลวงพ่อโสธร หรือเดินทางโดยรถยนต์
ตามถนนเรียบชายฝั่งแม่น้ำบางปะกงขึ้นเหนือไปไม่ไกลก็ถึงตลาดบ้านใหม่







               ตลาดบ้านใหม่เป็นตลาดชุมชนโบราณของชาวไทยเชื้อสายจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
ตั้งอยู่บริเวณปากคลอง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองแปดริ้ว( หมายถึงปลาช่อนตัวใหญ่เมื่อแล่
ผ่ากลางแล้วแผ่ออกทำปลาเค็ม  ผ่าได้ถึงแปดริ้ว )




                  จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นภาษาเขมรแปลว่า " คลองลึก " มีหลวงพ่อโสธรเป็นพระ
คู่บ้านคู่เมืองมีแม่น้ำบางปะกงเป็นจุดขายเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์




                       ตลาดบ้านใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมเป็น
ตลาดห้องแถวริมน้ำเป็นเรือนไม้ร่มรื่น สวยงาม




            เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่องเช่นนางนาค เจ้าสัวสยาม อยู่กับก๋ง..ฯลฯ...


       

                          ร้านกาแฟโบราณร้านนี้มี "รูปที่มีทุกบ้าน" เห็นแล้วชื่นใจจังเลย....





             นอกเหนือไปจากนั้นยังเป็นแหล่งอาหารอร่อย  ทั้งอาหารไทย/จีน รสชาติดั้งเดิม
รวมทั้งอาหารทะเล ทั้งของสดของแห้งและของฝากต่างๆมากมาย







                    เมื่อปี พ.ศ. 2547 ชาวชุมชนบ้านใหม่ได้พร้อมใจกันฟื้นฟูตลาดเก่าโบราณ
คู่ลำน้ำบางปะกงขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวคู่เมืองแปดริ้วให้เห็นชีวิตแบบย้อนยุค




           เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม  มีจุดเด่นคือการล่องเรือชมแม่น้ำบางปะกง






                   ไม่มีคำบรรยายครับ สวยงาม ..อิ่ม อร่อย สนุกเพลิดเพลิน..ประทับใจ....




                                     ................@@@@@@@@@@@@@...................


credit ;  www.oknation.net
             www.siamfreestyle.com
             www.weekendhobby.com
             www.dhamajak.net
             www.moopeakcomvoyagerte-tra.blogspot.com
             www.paiduaykun.com
             www.travel.thaiza.com